สดร. ชวนชม ฝนดาวตกควอดรานติดส์ ต้อนรับทศวรรษใหม่ 3-4 ม.ค. นี้
ค่ำคืนวันที่ 3 มกราคม 2563 จะมีปรากฏการณ์ธรรมชาติ นั่นก็คือ ฝนดาวตกแรกของปี 2563 โคยทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยว่า คืนนี้หลังเที่ยงคืน เข้าสู่วันที่ 4 มกราคม 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตก “ควอดรานติดส์” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์และกลุ่มดาวมังกร โดยฝนดาวตกควอดรานติดส์ มีอัตราการตกสูงสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ เนื่องจากช่วงนี้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน สำหรับฝนดาวตกดังกล่าว เกิดจากเศษอนุภาคที่เหลือจากดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช 1 (EH 1) ที่เคลื่อนผ่านวงโคจรโลก เมื่อโลกใกล้บริเวณดังกล่าว จะดึงดูดเศษหินและฝุ่นเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ จนเกิดเป็นลำแสงที่งดงาม ในรอบปีจะมีฝนดาวตกหลายกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีลักษณะและจำนวนความถี่แตกต่างกัน ตามแต่องค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว ฝนดาวตกบางกลุ่ม อาจมีเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมง แต่ก็ยังเรียกว่า “ฝนดาวตก” สำหรับช่วงที่เหมาะสมแก่การสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตก “ควอดรานติดส์” นี้มากที่สุด คือ เวลาประมาณ 02:30 น. เป็นต้นไป ต้องบอกเลยว่า ห้ามพลาดเด็ดขาด กับการยลความงดงามของฝนดาวตก ซึ่งถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตนั่นเอง
เรียบเรียง : ฐฺิติวัชร์ ตรีธนานุสรณ์
บรรณาธิการ : นันธวัฒน์ กิ่งนอก
ที่ปรึกษา : จิรวัฒน์ จุฑาวุฒิกุล