วันนี้ (10 ม.ค. 2565 วว. เทคโนธานี) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมเป็นประธานเปิดตัวตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี วว. อย่างเป็นทางการ และบรรยายพิเศษเรื่อง “ชีวิตคือวิจัย และคิดนอกกรอบ” มุ่งให้คนไทยเป็นนักวิจัย คิดนอกกรอบ โอกาสนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ในฐานะ ประธานกรรมการ วว. (กวท.) ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. พร้อมคณะกรรมการ กวท. ผู้บริหาร บุคลากร ร่วมให้การต้อนรับ
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า เป้าหมายของกระทรวง อว. มุ่งทำให้คนไทยเป็นนักวิจัย ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประเทศ ทำให้ไม่ติดกับความเคยชิน เกิดความรักสามัคคี เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการทำกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงกัน โดยปัจจุบันได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพผู้บริหารระดับสูง หรือ WINs ซึ่งเป็นผลจากที่ตนเองได้ทำวิจัยภาพรวมการทำงานของกระทรวงฯ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงาน ตอบโจทย์สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานร่วมกับเอกชนได้ตามยุทธศาสตร์การนำวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนประเทศ พร้อมดึงพลังคนรุ่นใหม่มาหลอมรวมกับความคิดผู้บริหารระดับสูง เพื่อพัฒนาอนาคตของชาติ
“...การที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้นั้น สิ่งสำคัญหนึ่งคือการวางแผน ต้องคิดนอกกรอบ คิดเชิงกลยุทธ์ คิดเชิงยุทธศาสตร์และมีการทำวิจัย ทำงานเสมือนยุคผู้บุกเบิกองค์กร เป็นผู้บุกเบิกรุ่นที่สอง ไม่ใช่ทำงานเหมือนได้รับดอกผลจากผู้ที่บุกเบิก ต้องทำงานแบบทุ่มเทและด้วยความพร้อม ต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิดเดิมๆ ให้มีความยืดหยุ่น ซึ่งจะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดสิ่งใหม่ ขอให้พยายามทำให้ดีที่สุด เพราะชีวิตคือโอกาส ชีวิตคือวิจัย และคิดนอกกรอบ...” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวในช่วงหนึ่งของการบรรยาย
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวรายงานในโอกาสนี้ว่า ผลจากการดำเนินงานของ วว. ส่งผลกระทบเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก่อให้มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม มากกว่า 16,000 ล้านบาท คิดเป็น 17.69 เท่า เมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการจัดสรร
ปัจจุบัน วว. ก้าวเข้าสู่การดำเนินงานในปีที่ 60 ได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) สร้างนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจผ่านการดำเนินงานภายใต้ BCG Model ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ตามนโยบายของรัฐบาล โดยอาศัยความได้เปรียบจากการที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และการหมุนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และส่งเสริมการดำเนินงานของ SMEs และ OTOP ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs และ OTOP ให้สามารถแข่งขันได้หลังวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
นอกจากนั้น วว. ยังตระหนักถึงการเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และ SMEs ด้วยขอบข่ายการให้บริการด้านการวิเคราะห์ทดสอบ/สอบเทียบ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม New S-curve รวมถึงการใช้ระบบดิจิทัลเสริมการให้บริการแก่ลูกค้า ส่งผลดีต่อการเข้าถึงให้งานบริการ และช่วยให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่วนด้านสังคม วว. ได้ลงพื้นที่ชุมชนสำคัญกว่า 39 จังหวัดทั่วประเทศ นำ วทน. เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร และสร้างอาชีพใหม่ ผ่านการดำเนินงานในโครงการต่างๆ เช่น โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัด ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการพัฒนาชุมชนนวัตอัตลักษณ์ โครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั่วประเทศ เป็นต้น รวมทั้ง วว. ยังมีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนงานวิจัยและบริการ ร่วมกับภาคีเครือข่ายนานาประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย เอเชีย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยในด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ นับเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับสากลและเผยแพร่แนวทาง BCG ให้เป็นที่ประจักษ์